สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก ตั้งแต่เสร็จพิธีพระราชทานเพลิงศพ คุณพ่อพุฒ โรจนทรัพย์ คุณพ่อของคุณครูลิลลี่ไป ก็รู้สึกว่าไทยรัฐออนไลน์จะเป็นเรื่องของการประมวลความรู้ภาษาไทยเกี่ยวกับงานศพมาบอกเล่าเก้าสิบกันอยู่หลายครั้งหลายหน จนคุณผู้อ่านบางท่านบอกว่าเริ่มหม่นหมองประคองอารมณ์ไปกับบรรยากาศงานศพเสียแล้ว ก็ต้องขอกราบประทานอภัยคุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่านด้วยนะคะ พอดีว่าคุณครูลิลลี่เพิ่งผ่านประสบการณ์ตรงมาเองเต็ม ๆ ก็เลยมองเห็นเรื่องราวของความรู้ภาษาไทยจากจุดนั้นจุดนี้ที่จะมาแลกเปลี่ยนให้ความรู้ซึ่งกันและกัน อย่างเรื่องราวในครั้งนี้ก็เช่นกัน เชื่อว่าถ้าพูดถึงคำว่าพิธีการสำหรับงานศพหลายท่านต้องเคยได้ยินคำนี้ “ลอยอังคาร” ใช่แล้วค่ะ ไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าลอยอังคารคืออะไร
คุณครูลิลลี่จำได้ว่าก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพของคุณพ่อ คุณครูลิลลี่ได้ประกาศว่าถ้าใครว่าง วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ขอเชิญไปร่วมพิธีลอยอังคารที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก็มีรุ่นน้องคนหนึ่งมาถามคุณครูว่าจะเอากระดูกคุณพ่อไปลอยที่สัตหีบเหรอคะ แล้วก็ถามต่ออีกว่า อังคาร กับ อัฐิ เหมือนกันหรือ เพราะเขาเคยได้ยินมาตลอดว่า อัฐิ หมายถึงกระดูก ถึงตรงนี้คุณครูลิลลี่เลยได้คิดขึ้นมาทันทีว่า คงมีอีกหลายท่านที่คิดว่าลอยอังคาร ก็คือ ลอยอัฐิ แน่ ๆ เลยขอเอาความรู้เรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนกันตามประสาคนรักภาษานะคะ
คำว่า "อัฐิ” หมายถึง กระดูก เข้าใจกันถูกต้องแล้วค่ะ ส่วนคำว่า “อังคาร" ในที่นี้ หมายถึง เถ้าถ่านของศพที่เผาแล้ว พิธีลอยอังคาร จึงหมายถึง การนำเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาศพไปลอยในแม่น้ำ ด้วยความเชื่อและคตินิยมของคนไทยที่มีมาช้านานว่า การลอยอังคาร จะช่วยส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่ภพภูมิที่ดี ที่มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เหมือนดั่งสายน้ำที่มีความชุ่มเย็น ความเชื่อเรื่องลอยอังคารเริ่มจากในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการสร้างเมรุหรือเชิงตะกอนเผาศพ ดังนั้นเมื่อทำการเผาศพแล้วเถ้าถ่านและกระดูกที่เหลือจากการเผาศพก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้ให้ขาวโพลนอยู่กลางลานวัดหรือป่าช้า ปลิวกระจัดกระจาย หรือถูกผู้คนเหยียบย่ำและถูกสัตว์คุ้ยเขี่ยบ้าง เรียกว่าเป็นภาพที่ไม่สวยงาม จึงมีความคิดที่จะต้องเก็บให้เรียบร้อย จึงกลายเป็นแนวคิดให้นำไปลอยในแม่น้ำทั้งหมด บ้างก็ลอยแค่ส่วนหนึ่งและเก็บไว้บูชาส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ส่วนที่เก็บไว้บูชาก็คือกระดูกหรือ อัฐิ นั่นเอง โดยจะเก็บไว้ในโกศ และส่วนที่นำไปลอยน้ำ ก็คือขี้เถ้า หรือที่เราเรียกว่า อังคาร นั่นเองค่ะ
คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์คะ คุณครูลิลลี่ขอเสริมให้อีกนิดนะคะ พิธีการลอยอังคารนั้น เขาสันนิษฐานกันว่า น่าจะได้รับคตินิยมมาจากประเทศอินเดีย หรือชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู เหตุเพราะคนอินเดียมีความเชื่อถือว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถที่จะชำระบาปได้ ด้วยเหตุนี้การเผาศพจึงชอบที่จะมาเผากันที่ริมแม่น้ำคงคากันมาก ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อจะได้นำกระดูกและเถ้าถ่านทิ้งลงแม่น้ำแห่งนี้ เพราะถ้าไม่ได้สัมผัสกับน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ หรือไม่หมดบาปนั่นเอง
สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการบันทึกในพงศาวดารกล่าวถึงพิธีการลอยอังคาร โดยเฉพาะการลอยพระอังคารของบรรดาเจ้านายต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน และสืบเนื่องมากระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนแนวความคิดนั้นต่างกันทางอินเดียและศาสนาฮินดูคือ ในแง่พระพุทธศาสนา การลอยอังคาร เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการละวางทั้งปวง ทั้งร่างกายและสังขาร อันเกิดจากการรวมกันของธาตุต่าง ๆ เมื่อแตกดับก็หลงเหลือเพียงผงธุลีที่ฝากไว้ในอากาศ ในดิน และในน้ำ ดังนั้นการลอยอังคารก็เป็นการกลับคืนสู่บ้านอันนิรันดร์และแท้จริงของสรรพสิ่งทั้งมวลนั่นเองค่ะ.
คุณครูลิลลี่
instagram : krulilly
facebook : ครูลิลลี่
youtube : ครูลิลลี่
|