เมื่อกำหนดจิตใจพิจารณาถึงความเป็นไปในสังคมที่กำลังวุ่นวายสับสน ทำให้หวนระลึกถึงพุทโธวาทที่ตรัสสอนพุทธศาสนิกชน ว่าด้วยบุคคลหาได้ยาก ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏแห่งบุคคล ๓ จำพวกหาได้ยากในโลก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑, บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ๑, กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑, ความปรากฏแห่งบุคคล ๓ จำพวกนี้แลหาได้ยากในโลก” ต่อมาสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทวมหาเถร) ได้นำความส่วนหนึ่งมานิพนธ์เป็นธรรมภาษิต ว่า “ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี” เมื่อสรุปความแห่งธรรมภาษิต ทำให้ได้ธรรมภาษิตใหม่ว่า “อกตัญญูกตเวทีบุคคล" เป็นบุคคลหาได้ง่ายในโลก, ความอกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนไม่ดี”
บุรพชนไทยตระหนักถึงคุณประโยชน์ของความกตัญญูกตเวที จึงเน้นสอนให้บุตรหลานประพฤติตนอยู่ในกรอบแห่งความกตัญญูกตเวที ทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนเป็นไปด้วยดี อำนวยสุขสวัสดิผลให้เกิดแก่ทุกคนในสังคม วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์สร้างความเจริญทาง วัตถุที่เป็นปัจจัย ๔ ส่งผลให้เกิดการแสวงหาสุขประโยชน์ จากวัตถุเหล่านั้นตามอำนาจความอยากที่เป็นกิเลสในสันดานมนุษย์ ความหลงใหลในวัตถุที่ปรารถนา ทำให้เกิดการละเลยคุณธรรมที่อำนวยสุขสวัสดิผลแก่ตนและ สังคม มุ่งเน้นแต่สุขประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง มนุษย์จึงเริ่มทำตนให้เป็นอกตัญญูบุคคลโดยไม่รู้ตัว ความวิบัติในสังคมจึงเกิดขึ้นมา และดำรงอยู่ตราบเท่าที่ยังมีคนอกตัญญูอยู่
พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงภัยอันเกิดจากความอกตัญญู จึงทรงสอนธรรมเกี่ยวกับอกตัญญูแก่พุทธสาวก พร้อมทั้งยกตัวอย่างอกตัญญูบุคคลขึ้นเป็นอุทาหรณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงภัยของอกตัญญูบุคคลอย่างแท้จริง ในที่นี้ขอนำนิทานชาดกมาแสดงให้พิจารณาดังนี้
อกตัญญูชาดก พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า “ผู้ใดอันท่านทำดีให้ก่อน ทำประโยชน์ให้ก่อน แต่ไม่รู้จักคุณผู้นั้น เมื่อมีกิจการเกิดขึ้นภายหลัง ย่อมไม่ได้ผู้ช่วยเหลือ” ทรงแสดงนิทานชาดกสอนให้เข้าใจในภาษิตนี้ว่า
มีเศรษฐีชาวปัจจันตชนบทผู้หนึ่ง ได้เป็นอทิฏฐสหาย (สหายผู้ยังไม่เคยพบกัน) ของท่านอนาถบิณฑิกะ กาลครั้งหนึ่ง เศรษฐีนั้นบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่ม เต็มไปด้วย สิ่งของที่เกิดขึ้นในปัจจันตชนบท กล่าวกะพวกคนงานว่า ไปเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงนำของสิ่งนี้ไปสู่พระนครสาวัตถี ขายให้แก่มหาเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ สหายของเราด้วยราคาของตอบแทน แล้วพากันขนของตอบแทนมาเถิด คนงานเหล่านั้นรับคำของท่านเศรษฐีแล้ว พากันไปสู่พระนครสาวัตถีพบท่านมหาเศรษฐีอนาถบิณฑิกแล้วให้บรรณาการ แจ้งเรื่องนั้นให้ทราบ แม้ท่านมหาเศรษฐีเห็นแล้วก็กล่าวว่า พวกท่านมาดีแล้ว จัดการให้ที่พักและเสบียงแก่คนเหล่านั้น ไต่ถามความสุขของเศรษฐีผู้เป็นสหาย รับซื้อภัณฑะ (ข้าวของ, สินค้า, เครื่องใช้) ไว้แล้ว ให้ภัณฑะตอบแทนไป คนงานเหล่านั้นพากันไปสู่ปัจจันตชนบท แจ้งเนื้อความนั้นแก่เศรษฐีของตน
ต่อมา ท่านอนาถบิณฑิกะก็ส่งเกวียน ๕๐๐ เล่มอย่าง นั้นแหละ ไปในปัจจันตชนบทนั้นบ้าง พวกมนุษย์ไปในปัจจันตชนบทนั้นแล้ว นำบรรณาการไปมอบให้ท่านเศรษฐี ปัจจันตชนบท เศรษฐีนั้นถามว่า พวกเจ้ามาจากที่ไหนเล่า ครั้นพวกคนเหล่านั้นบอกว่า มาจากพระนครสาวัตถี สำนักอนาถบิณฑิกะผู้เป็นสหายของท่าน เศรษฐีก็หัวเราะเยาะว่า คำว่า อนาถบิณฑิกะ จักเป็นชื่อของบุรุษคนไหนๆ ก็ได้ แล้วรับเครื่องบรรณาการไว้ ส่งกลับไปว่า พวกเจ้าจงไปกันเถิด มิได้จัดการเรื่องที่พักและให้เสบียงเลย คนเหล่านั้นต้องขายสิ่งของกันเอง พากันขนสิ่งของตอบแทนมาพระนคร สาวัตถี แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่เศรษฐี
อยู่ต่อมา เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทส่งเกวียน ๕๐๐ เล่มอย่างนั้นแหละ ไปสู่พระนครสาวัตถีซ้ำอีกครั้งหนึ่ง พวกมนุษย์น้อมนำบรรณาการไปพบท่านมหาเศรษฐี ฝ่ายพวก คนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเห็นพวกนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ พวกผมจักกำหนดที่พักอาหาร และเสบียงของพวกนั้นเอง แล้วบอกให้พวกนั้นปลดเกวียนไว้ในที่เช่นนั้นภายนอกพระนคร กล่าวว่า พวกท่านพากันอยู่ที่นี่เถิด ข้าวยาคูแลภัตร และเสบียงสำหรับพวกท่าน ในเรือนของพวกท่านจักพอมี แล้วพากันไปเรียกพวกทาสและกรรมกรมาประชุมกัน พอได้เวลาเที่ยงคืน ก็คุมกันปล้นเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่ม แย่งเอาแม้กระทั่งผ้านุ่งผ้าห่มของคนเหล่านั้น ไล่โคให้หนีไปหมด ถอดล้อเกวียน ๕๐๐ เล่มเสียหมดวางไว้ที่แผ่นดิน แล้วขนเอาแต่ล้อเกวียน ทั้งหลายไป พวกชาวปัจจันตชนบท ไม่เหลือแม้แต่ผ้านุ่ง ต่างกลัวพากันรีบหนีไปสู่ปัจจันตชนบท ฝ่ายคนของท่านเศรษฐีพากันบอกเรื่องนั้นแก่ท่านมหาเศรษฐี ท่านมหาเศรษฐีคิดว่า บัดนี้มีเรื่องนำข้อความที่จะกราบทูลแล้ว จึงไปสำนักพระบรมศาสดา กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้น
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทนั้นเป็นผู้มีปกติประพฤติอย่างนี้ ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้มีปกติประพฤติเช่นนี้มาแล้วเหมือนกัน
อันท่านเศรษฐีกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐี มีสมบัติมาก ในพระนครพาราณสี เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทผู้หนึ่งได้เป็นอทิฏฐสหาย (สหายผู้ยังไม่เคยพบกัน) ของท่าน เรื่องอดีตทั้งหมด เป็นเหมือนกับเรื่องในปัจจุบัน นั่นแหละ (แปลกกันแต่ว่า) พระโพธิสัตว์ เมื่อคนของตนแจ้งให้ทราบว่า วันนี้พวกผมทำงานชื่อนี้ ดังนี้แล้ว ก็กล่าวว่า พวกนั้นไม่รู้อุปการะที่เขาทำแก่ตนก่อน จึงพากันได้รับกรรมเช่นนี้ในภายหลัง เพื่อจะแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกัน จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า ผู้ใดอันท่านทำดีให้ก่อน ทำประโยชน์ให้ก่อน แต่ไม่รู้จักคุณผู้นั้น เมื่อมีกิจการเกิดขึ้นภายหลัง ย่อมไม่ได้ผู้ช่วยเหลือ ดังนี้
สีลวนาคชาดก พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า “ถ้าใครๆ จะพึงให้สมบัติในแผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ผู้มีปกติมองหาโทษอยู่เป็นนิตย์ ก็ให้เขาพอใจไม่ได้” ทรงแสดงนิทานชาดกสอนให้เข้าใจในภาษิตนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู ไม่รู้คุณของพระตถาคต
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้ง หลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู แม้ในครั้งก่อนก็เคยเป็นผู้อกตัญญูมาแล้ว ไม่เคยรู้ คุณของเรา ไม่ว่าในกาลไหนๆ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีต มาสาธกดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้างในหิมวันตประเทศ พอคลอดจากครรภ์มารดา ก็มีอวัยวะขาวปลอด มีสีเปล่งปลั่งดังเงินยวง นัยน์ตาทั้งคู่ของพระยาช้างนั้น ปรากฏเหมือนกับแก้วมณี มีประสาทครบ ๕ ส่วนปากเช่นกับผ้ากัมพลแดง งวงเช่นกับพวงเงินที่ประดับระยับด้วยทอง เท้าทั้ง ๔ เป็นเหมือนย้อมด้วยน้ำครั่ง อัตภาพอันบารมีทั้ง ๑๐ ตกแต่งของพระโพธิสัตว์นั้น ถึงความงามเลิศด้วยรูปอย่างนี้
ครั้งนั้น ฝูงช้างในป่าหิมพานต์ทั้งสิ้นมาประชุมกันแล้ว พากันบำรุงพระโพธิสัตว์ผู้ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว พระโพธิสัตว์จึงมีช้างแปดหมื่นเป็นบริวาร อยู่อาศัยในหิมวันตประเทศด้วยประการฉะนี้ ภายหลังเห็นโทษในหมู่คณะ จึงหลีกออกจากหมู่ สู่ที่สงบสงัดกาย พำนักอาศัยอยู่ในป่าแต่ลำพังผู้เดียวเท่านั้น และเพราะเหตุที่ช้างผู้พระโพธิสัตว์นั้นเป็นสัตว์มีศีล จึงได้นามว่า “สีลวนาคราช” พญาช้างผู้มีศีล
ครั้งนั้น พรานป่าชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่งเข้าสู่ป่าหิมพานต์ เสาะแสวงหาสิ่งของอันเป็นเครื่องยังชีพของตน ไม่อาจกำหนดทิศทางได้ หลงทาง เป็นผู้กลัวแต่มรณภัย ยกแขนทั้งคู่ร่ำร้องคร่ำครวญไป
พระโพธิสัตว์ได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของพรานผู้นั้นแล้ว อันความกรุณาเข้ามาตักเตือนว่า เราจักช่วยบุรุษผู้นี้ให้พ้นจากทุกข์ ก็เดินไปหาเขาใกล้ๆ เขาเห็นพระโพธิ-สัตว์แล้ววิ่งหนีไป พระโพธิสัตว์เห็นเขาวิ่งหนีก็หยุดยืนอยู่ตรงนั้น บุรุษนั้นเห็นพระโพธิสัตว์หยุดจึงหยุดยืน พระโพธิสัตว์ก็เดินใกล้เข้าไปอีก เขาก็วิ่งหนีอีก เวลาพระโพธิสัตว์หยุด เขาก็หยุด แล้วดำริว่า ช้างนี้เวลาเราหนีก็หยุดยืน เดินมาหาเวลาที่เราหยุด เห็นทีจะไม่มุ่งร้ายเรา แต่คงปรารถนาจะช่วยเราให้พ้นจากทุกข์นี้เป็นแน่ เขาจึงกล้ายืนอยู่
พระโพธิสัตว์เข้าไปใกล้เขา ถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เหตุไรท่านจึงเที่ยวร่ำร้องคร่ำครวญไป เขาตอบว่า ท่านช้างผู้จ่าโขลง ข้าพเจ้ากำหนดทิศทางไม่ถูก หลงทาง จึงเที่ยวร่ำร้องไปเพราะกลัวตาย ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จึงพาเขาไปยังที่อยู่ของตน เลี้ยงดูจนอิ่มหนำด้วยผลาผล ๒-๓ วัน แล้วกล่าวว่า อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้าจักพาท่านไปสู่ถิ่นมนุษย์ แล้วให้นั่งหลังตน พาไปส่งถึงถิ่นมนุษย์
ครั้งนั้นแล พรานป่าเป็นคนมีสันดานทำลายมิตร จึงคิดมาตลอดทางว่า ถ้ามีใครถามต้องบอกได้ ดังนี้ นั่งมาบนหลังพระโพธิสัตว์ วางแผนกำหนดที่หมายต้นไม้ ที่หมายภูเขาไว้ถ้วนถี่ทีเดียว ครั้นพระโพธิสัตว์พาเขาออกไปจนพ้นป่าแล้ว หยุดที่ทางใหญ่อันเป็นทางเดินไปสู่พระนครพาราณสี สั่งว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ท่านจงไปทางนี้เถิด แต่ถ้ามีใครถามถึงที่อยู่ของเรา ท่านอย่าบอกนะ ดังนี้ ส่งเขาไปแล้ว ก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตน
ครั้งนั้น บุรุษนั้นไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว ก็ไปถึงถนนช่างสลักงา เห็นพวกช่างสลักงากำลังทำเครื่องงาหลายชนิด จึงถามว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าได้งาช้างที่ยังเป็นๆ ท่านทั้งหลายจะซื้อหรือไม่? พวกช่างสลักงาตอบว่า ท่านผู้เจริญ ท่านพูดอะไร ธรรมดางาช้างเป็นมีค่ามากกว่างาช้างที่ตายแล้วหลายเท่า เขากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักนำงาช้างเป็นมาให้พวกท่าน แล้วจัดเสบียงคือ เลื่อยไปสู่ที่อยู่ของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์เห็นเขามาจึงถามว่า ท่านมาเพื่อประสงค์ อะไร? เขาตอบว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นจ่าโขลง ข้าพเจ้าเป็นคนยากจนกำพร้า ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ มาขอตัดงาท่าน ถ้าท่านจักให้ก็จะถืองานั้นไปขายเลี้ยงชีวิตด้วยทุนทรัพย์ นั้น พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เอาเถิดพ่อคุณ เราจักให้งาท่าน ถ้ามีเลื่อยสำหรับตัดงา เขากล่าวว่า ท่านผู้เป็นจ่าโขลง ข้าพเจ้าถือเอาเลื่อยเตรียมมาแล้ว พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเอาเลื่อยตัดงาเถิด แล้วคุกเท้าหมอบลง เหมือนโคหมอบ เขาก็ตัดปลายงาทั้งคู่ของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์จับงาเหล่านั้นด้วยงวง พลางตั้งปณิธานเพื่อพระสัพพัญญุตญาณว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ใช่ว่าเราจะให้งาคู่นี้ด้วยคิดว่า งาเหล่านี้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบ ใจของเราดังนี้ก็หามิได้ แต่ว่า พระสัพพัญญุตญาณอันสามารถจะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงเป็นที่รักของเรายิ่งกว่างา เหล่านี้ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า การให้งานี้เป็นทานของเรานั้น จงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเถิด แล้วสละงาทั้งคู่ให้ไป
เขาถืองานั้นไปขาย ครั้นสิ้นทุนทรัพย์นั้นก็ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์อีก กล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นจ่าโขลง ทุนทรัพย์ที่ได้เพราะขายงาของท่าน เพียงพอแค่ชำระหนี้ของข้าพเจ้าเท่านั้น โปรดให้งาส่วนที่เหลือแก่ข้าพเจ้าเถิด พระโพธิสัตว์ก็รับคำแล้วยอมให้เขาตัด ยกงาส่วนที่เหลือให้โดยนัยเดียวกับครั้งก่อน |