วิกฤติน้ำท่วมไทยลามขยายวงกว้าง "วิธแมน" เผยยักษ์อินเทอร์เน็ต "กูเกิล-เฟซบุ๊ค" ต่อสายขอใช้บริการเซิร์ฟเวอร์ หลังประสบปัญหาฮาร์ดดิสก์ขาดตลาด
วิกฤติน้ำท่วมไทยลามขยายวงกว้าง "วิธแมน" เผยยักษ์อินเทอร์เน็ต "กูเกิล-เฟซบุ๊ค" ต่อสายขอใช้บริการเซิร์ฟเวอร์ หลังประสบปัญหาฮาร์ดดิสก์ขาดตลาด ซีอีโอหญิงเอชพีรับตั้งวอร์รูม พร้อมเตรียมแผนรับมือล่วงหน้าเร็ว
รายงานข่าวจากเว็บไซต์ซีเน็ต กล่าวว่า หลังรายงานผลประกอบการบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด หรือเอชพี ซีอีโอหญิง "เมค วิธแมน" เผยว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของโลกทั้ง "กูเกิล" และ "เฟซบุ๊ค" ติดต่อมาขอใช้บริการเซิร์ฟเวอร์ของเอชพี เพราะปัญหาฮาร์ดดิสก์ขาดตลาด
ทั้งนี้ผู้บริหารหญิงของเอชพีได้ตอบคำถามนักวิเคราะห์ระหว่างการประชุมทางโทรศัพท์เกี่ยวกับบริษัท เช่น กูเกิล และเฟซบุ๊ค ที่สร้างเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง โดยไม่ใช้บริการจากผู้ให้บริการในท้องตลาด เช่น ผู้ผลิตพีซีอย่างเอชพี และเดลล์
"เรามักจะได้ยินตลอดเวลาว่าบริษัทส่วนใหญ่มักจะทำเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง แต่ตอนนี้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถทำเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองได้อีก เนื่องจากไม่สามารถหาซื้อฮาร์ดดิสก์ซึ่งเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการเก็บข้อมูลได้ ดังนั้นบริษัทเหล่านี้ก็เลยโทรหาเรา ซึ่งรวมถึงกูเกิล และเฟซบุ๊ค ที่ก็ทำเหมือนที่ว่ามาเช่นกัน แต่ต้องบอกว่าที่บริษัทเหล่านี้โทรหาเราตอนนี้ก็เพราะไม่สามารถหาไดร์ฟสำหรับดำเนินการเซิร์ฟเวอร์ได้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในไทยที่ทำให้ฮาร์ดดิสก์ขาดแคลน" นางสาววิธแมน กล่าว
พร้อมกับระบุว่า สถานการณ์ยังคงเป็นไปด้วยดี โดยบริษัทได้โทรศัพท์ถึงพาร์ทเนอร์ฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ทั้ง 4 รายแล้ว แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์เหล่านี้จะสามาถกลับมาดำเนินการได้เหมือนเดิมเมื่อใด
ขณะที่ เอชพีได้เริ่มเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือน ต.ค. โดยซีอีโอหญิงเผยว่า เอชพีได้ตั้งวอร์รูม พร้อมกับเริ่มจัดการสต็อก และวางแผนการซื้อฮาร์ดดิสก์ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นบริษัทคาดว่าจะได้รับส่วนแบ่งฮาร์ดดิสก์มากกว่ารายอื่นๆ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกับผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ที่จัดส่งสินค้าให้ รวมทั้งบริษัทยังเตรียมแผนรับมือได้เร็ว
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเอชพียังเชื่อว่า ในภาพรวมอีก 2 ไตรมาสถัดไปยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย และส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมพอสมควร เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพีซี, เซิร์ฟเวอร์ และสตอเรจ ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนสินค้าบางส่วนในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้า
ขอบคุณ ข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
|